พระราชประวัติพระราชกรณียกิจลงนามถวายพระพรอัลบั้มภาพของพ่อ

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา ทรงเริ่มเสด็จเยี่ยมเยือน และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เริ่มจากราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงกับพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีพื้นที่แห่งใดเลยในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ซึ่งพสกนิกรชาวไทยในทุกหนแห่งก็ถวายความ จงรักภักดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างล้นเหลือเช่นกัน” และจากการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรด้วยพระองค์เองทำให้ทรงทราบปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริม และอื่นๆ เหล่านี้คือที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 โครงการ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. โครงการตามพระราชประสงค์ เป็นโครงการที่ทรง ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดีเมื่อโครงการนั้นได้ผลดีมีประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับช่วงงานต่อไป
  2. โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเลือกดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่บนดอยต่างๆ ในเขตภาคเหนือที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งไม้ดอก และไม้ผล จนมีอาชีพที่มั่นคง ลดการตัดไม้ทำลายป่าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการหลวง ได้รับรางวัลแมกไซไซ ในฐานะองค์กรดีเด่น สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ ประจำปี 2531
  3. โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริและคำแนะนำให้เอกชนไปดำเนินการและรับผิดชอบด้านกำลังทรัพย์ กำลังปัญญา และบุคลากร ตลอดจน ติดตามผลงานด้วยตนเอง เช่น โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
  4. โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนาและให้รัฐบาลร่วมดำเนินการ โดยครอบคลุมการพัฒนาในหลายสาขา คือ
    1. ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ทรงพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่งขาดแคลนน้ำ ที่จะใช้เพาะปลูกและอุปโภค ในขณะที่บางแห่งกลับมีน้ำท่วม พืชผลได้รับความเสียหาย จึงทรงจัดหาแหล่งน้ำ และการชลประทานให้แก่ราษฎรแบ่งเป็น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค, โครงการพัฒนาแหล่งนี้เพื่อการรักษา ต้นน้ำลำธาร, โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าในชนบทที่ห่างไกล, โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก, โครงการบรรเทาอุทกภัย
    2. ด้านการปฏิรูปและพัฒนาที่ดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพัฒนาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ให้อุดมสมบูรณ์ แล้วจัดสรรให้เกษตรกรในรูปสหกรณ์ นอกจากนั้นมีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
    3. ด้านเกษตรกรรม มีหลายโครงการ ได้แก่ โครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ, โครงการฝนหลวง, โครงการธนาคารข้าว, โครงการธนาคารโค กระบือ, โครงการส่งเสริมอาชีพพิเศษในยามที่ เกษตรกรว่างจากการทำไร่ทำนา, โครงการสหกรณ์
    4. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงจัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเช่น แพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน, โครงการแพทย์พิเศษพระราชประสงค์, หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
    5. ด้านการศึกษา พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนก่อสร้างโรงเรียนและทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ เพื่อสนับสนุนเด็กที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์แก่นักเรียนทุกระดับ รวมทั้งโปรดเกล้าฯ จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อส่งไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวง ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใย ถึงทุกสุขของประชาชน และก่อเกิดความจงรักภักดีที่พสกนิกร ทุกหมู่เหล่าตระหนักในความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน จนยากจะลบเลือน....

พระราชกรณียกิจโดยสังเขป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ทรงครองราชย์เป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • มูลนิธิชัยพัฒนา
  • มูลนิธิโครงการหลวง
  • โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
  • โครงการหลวงอ่างขาง
  • โครงการปลูกป่าถาวร
  • โครงการแก้มลิง
  • โครงการฝนหลวง
  • โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
  • โครงการแกล้งดิน
  • กังหันชัยพัฒนา
  • แนวพระราชดำริ ผลิตแก๊สโซฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ (พ.ศ. 2528)
  • แนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง
Sanook